เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 3.มหาโพธิชาดก (528)
[139] หากถ้อยคำของมหาบพิตรเป็นไปตามคติของตน
และตามสภาวะที่เป็นจริงไซร้
เพราะไม่มีความประสงค์ สัตว์จึงทำกรรมที่ไม่ควรทำบ้าง
ที่ควรทำบ้าง เมื่อกระทำโดยไม่มีความประสงค์
ใครเล่าในโลกนี้ จะแปดเปื้อนบาป
[140] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[141] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[142] ถ้าพระผู้เป็นใหญ่1กำหนดชีวิต จัดสรรฤทธิ์
ความหายนะ และกรรมดีกรรมชั่วแก่ชาวโลกทั้งปวงไซร้
คนผู้ทำตามคำสั่งทำบาป
พระผู้เป็นใหญ่ย่อมแปดเปื้อนบาปนั้นเอง
[143] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[144] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
1 พระผู้เป็นใหญ่ หมายถึงพระพรหมหรือพระเป็นเจ้าองค์อื่นจัดแจงตรวจตราชีวิตแก่ชาวโลกทั้งหมด (ขุ.ชา.อ.
2/142/64)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :27 }